กิจการวิทยุสมัครเล่น เป็นข่ายสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสถานีวิทยุคมนาคมและพนักงานวิทยุคมนาคมที่มากที่สุดในโลก ดังนั้นน่าจะเชื่อว่าเป็นข่ายสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกก็ได้ นักวิทยุสมัครเล่นมักจะเข้าใจว่า “เป็นพวกเล่นๆไม่เอาจริง อะไรทำนองนั้น”   อันที่จริงแล้วคำว่า “สมัครเล่น” นั้นจะแปลให้เข้าใจกันอย่างถูกต้องแล้วต้องขยายความว่า “ตรงข้ามกับผู้ที่ทำเป็นอาชีพ” พวกสมัครเล่นนั้น คือ ผู้ที่เล่น หรือ ทำด้วยสมัครใจ ซึ่งแตกต่างกับ “พวกบังคับเล่น” พวกนั้นจำต้องเล่น หรือ ต้องทำด้วยการถูกบังคับ อะไรก็ตามที่ทำด้วยความสมัครใจมันก็ย่อมดีกว่าที่ถูกบังคับ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมข่ายวิทยุสมัครเล่นจึงมีประสิทธิภาพสูงกว่า ไม่ว่าในสังคมใดก็ตามย่อมประกอบขึ้นด้วยบุคคลหลากหลาย ในสังคมวิทยุสมัครเล่นก็เช่นกัน นักวิทยุสมัครเล่นประกอบด้วยบุคคลทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพ มีตั้งแต่ต่ำต้อยที่สุดจนกระทั่งถึงระดับประมุขของประเทศ มีตั้งแต่จนที่สุดจนถึงรวยที่สุด มีตั้งแต่โง่ที่สุดจนถึงฉลาดที่สุด มีตั้งแต่โกงที่สุดจนถึงซื่อที่สุด มีตั้งแต่โม้ที่สุดจนถ่อมตัวที่สุด  มีตั้งแต่หยาบคาบก้าวร้าวที่สุดจนถึงสุภาพเรียบร้อยที่สุด ฯลฯ

การเข้ามาเป็นนักวิทยุสมัครเล่น (ไทย) นั้นจะว่ายากก็ไม่ยาก  แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นนักวิทยุสมัครเล่นแล้วโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง (มีใบอนุญาต มีเครื่องวิทยุคมนาคม มีสัญญาณเรียกขาน)  การที่จะเข้าร่วมสังคมกับนักวิทยุสมัครเล่นอื่นๆ จะเป็นไปได้สมเจตนารมณ์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวของแต่ละบุคคลเอง  ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจให้ดีตั้งแต่เมื่อตัดสินใจเข้ามาเป็นนักวิทยุฯ ว่าวิทยุสมัครเล่นนั้นมิได้มีไว้เพื่อใช้แทนระบบสื่อสารสาธารณะที่รัฐให้ใช้  วิทยุสมัครเล่นไม่ใช่ “โทรศัพท์” ขณะที่ท่านพูดออกอากาศไป รับรองได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนมีคนอื่นฟังอยู่ไม่เป็นสิบก็เป็นร้อยเป็นพัน เรื่องส่วนตัว (สั่งก๋วยเตี๋ยว หรือ จะพลอดรัก) ใช้โทรศัพท์ (LAND LINE) ดีกว่า การค้า การเมือง เรื่องศาสนา ก็อย่าได้นำมาคุยกิจการวิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นกิจการที่นักวิทยุสมัครเล่นทุกๆคนจะต้องช่วยประคับประคอง หากพวกเราช่วยๆ กันเองคอยช่วยๆ ดึงกันไว้คนละนิดละหน่อยอย่าปล่อยให้หลงออกนอกลู่นอกทางกันมากนัก ผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลตามกฎหมาย เขาก็คงไม่อยากมาข้องมาเกี่ยวอะไรนักหรอก

สังคมแต่ละสังคมก็ย่อมมีขนบธรรมเนียมประเพณีของตน ฉันใดก็ฉันนั้น มรรยาทพื้นฐานของสุภาพชนคงจะไม่ต้องเน้น ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดยกเว้นในหมู่โจร  “ภาษาวิทยุเป็นภาษาพิเศษที่ทรงเกียรติ ไม่ว่าท่านสนิทสนมกันเพียงใด หรือจะไม่เคยพบหน้าค่าตากันมาก่อนเลยก็ตาม ภาษาวิทยุมีเพียงภาษาเดียวเท่านั้น”

ภาษาวิทยุฯมีการใช้รหัส “Q” สากล เรียกว่า “Q CODE” หรือ “Q SIGNAL” ซึ่งจุดประสงค์หลักของการใช้ Q CODE ก็เพื่อเป็นการย่นย่อข้อความในการส่งสัญญาณด้วยรหัส MORSE สำหรับการส่งสัญญาณในระบบ “วิทยุโทรศัพท์” (RADIO TELEPHONY)  หรือ การใช้เสียงพูดเข้าไปผสมคลลื่นวิทยุ (RF)  และเมื่อไปถึงผู้รับถูกถอดกลับออกเป็นเสียงพูดอีก ไม่จำเป็นต้องใช้ Q CODE จริงแล้วเขาบอกว่าให้ใช้น้อยที่สุด  เขาจะประณามด้วยซ้ำไปหากผู้ใดไปเปิดตำราแล้วนำเอา Q CODE ประหลาดๆ มาลองภูมิเพื่อนฝูง อย่างไรก็ตาม Q CODE  ง่ายๆ พื้นฐานประมาณสิบกว่าตัวถือว่านักวิทยุสมัครเล่นทุกคนต้องทราบ มิฉะนั้นเขาคงจะไม่เชื่อว่าเป็นนักวิทยุสมัครเล่น นอกจาก Q CODE แล้ว วิทยุสมัครเล่นยังมีศัพท์จำเพาะซึ่งเป็นสากลอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วก็มีอยู่ไม่มากนักศัพท์เหล่านี้สนใจจดจำสักหน่อยก็ไม่หนักหนาสาหัสอะไรนัก  ขออย่างเดียวอย่าอุตริไปแผลงเขาเลย ภาษาวิทยุสมัครเล่นของไทยเราจะกลายเป็นภาษาวิบัติไปหมดแล้ว !

การรายงานผลการรับฟังมักจะเป็นเรื่องหลักของนักวิทยุสมัครเล่นผู้เป็นนักทดลองและค้นคว้า เขาจะรายงาน “ความสมบูรณ์ของข้อความ” เรียกว่าระดับของ “QRK” ซึ่งมีอยู่ 5 ระดับ

QRK 1 รู้เพียงว่ามีการส่งสัญญาณมา แต่ไม่สามารถรับข้อความได้เลย

QRK 2 ใน 10 คำ สามารถจับได้ประมาณ 2 คำ ประติดประต่อใจความไม่ได้

QRK 3 ใน 10 คำ สามารถจับได้ประมาณ 8 คำ แต่ 2 คำที่หายไปอาจเป็นคำสำคัญก็ได้

QRK 4 ได้ข้อความครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด แต่ยังมีเสียงอื่นแทรกซ้อนติดตามาบ้าง

QRK 5 สมบูรณ์ทุกประการ

บทความโดย..HS1HB

 Q S O อย่างไร ไม่ ดี ?

 

********************************************

เรียกขาน-ตอบรับ

HS**** อยู่ม้าย ? – XYZ  อยู่ม้าย ? – HS**** - XYZ ???

ตอบ ตอบ ตอบ !!!  - ผู้ใดตอบ ??? – ก๊อปไม้ก๊อป ???  - ปี้ยะป่าว ???

CQ CQ CQ ??? -  ตอบ CQ – ผู้ใดตอบ CQ ?? – ก็ผู้ใด CQ ล่ะ ??

แถ็ก แถ็ก แถ็ก – เชิญ – ผู้ใดรับแถ็ก ??  เบก เบกคับเบก – เชิญสิบล้อเบก !! }

                การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการวิทยุสมัครเล่น การแสดงตน (STATION IDENTIFICATION) คือ การขานสัญญาณเรียกขาน (CALL SIGN) ซึ่งนอกจากเป็นกติกาสากลแล้วยังถือว่าเป็นมรรยาทที่ดีอีกด้วย

ในการ QSO ไม่จำเป็นต้องทวนสัญญาณเรียกขานกันทุกประโยค ระเบียบสากล ITU ระบุว่าอย่างน้อยที่สุด ต้องขาน CALL SIGN (เพื่อเป็นการแสดงตน) ไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งภายในช่วงเวลา 10 นาที

การขานสัญญาณเรียกขาน (CALL SIGN) ไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นเขาจะฟังออก  ขานช้าๆ ชัดๆ โดยเฉพาะตอนเรียกขานกันครั้งแรกๆ ควรขานเป็น PHONETIC ALPHABET จะได้ไม่สับสนว่า เป็นตัว F Foxtrot, H Hotel, S Sierra หรือ X X-Ray เป็นต้น

ROGER

{ โรเจอร์เลย – ท่านโลเจอร์อาคาร xxx ไหม ? – ผมก็ไม่โลเจอร์เลย ไม่รู้ซีว่าอยู่ตรงไหน !

ทำไมท่านจึงโลเจ้อร์ชื่อจริงผมล่ะ ? – อ๋อ ผมโลเจ้อร์ชื่อท่านแล้วละ แต่ยังไม่โลเจ้อร์หน้าท่านเลย }

คำว่า “ ROGER (ร๊อด์เจ้อร์)” นั้นมิได้แปลว่า ทราบ หรือ รู้ หรือ รู้จัก ความหมายของคำนี้ เป็นในลักษณะว่า “รับทราบ เชิงรับปฏิบัติ” ลำบากนัก (แต่มันเท่ห์?) ก็อย่าไปใช้มันเลยดีกว่า ภาษาไทยธรรมด๋า ธรรมดา ก็ไพเราะดีอยู่แล้ว เข้าใจง่ายดีด้วย    (HS4 BBU เห็นด้วยอย่างยิ่ง)

QRD – QTR –X – X-RAY – HOME – DRIVE MOBILE

{ QTR นี้ ผมกำลังจะได๊ว์โมบาย QRD ไป HOME ท่าน  ท่านอย่าเพิ่ง QRD ไปไหนนะ  ให้ QRX ผมที่ HOME ก่อนนะ  ผมคงจะใช้ QTR ไม่น่าเท่าไรหรอก อ้อ ! แล้วช่วยบอก X ของท่านให้เตรียมขนมอร่อยๆ ไว้เผื่อ  X-RAY ของผมด้วย ลืมบอกไปว่า X-RAY เขาเผอิญมี QTR ว่างเว้น เขาเลยขอตามมาด้วย เขาอยากจะมา โลเจ้อร์ X ของท่านบ้าง เพราะเคยแต่ได้ยินเสียงเขา QSO มาเป็น QTR นานแล้ว เสียโอดีโอเขาเพราะดี เลยอยากจะมาโลเจอร์ หน้าเขาบ้าง }

                Q CODE หรือ Q SIGNAL เขามีไว้เพื่อย่นย่อข้อความในการติดต่อสื่อสารในระบบ CW (CONTINUOUS WAVE) หรือ วิทยุโทรเลข (RADIO TELEGRAPHY) คือ การรับ-ส่ง โดยการเคาะรหัสมอร์ส (MORSE) ส่วนการติดต่อสื่อสารในระบบวิทยุโทรศัพท์ (RADIO TELEPHONY) นั้น คือ การใช้เสียงพูดไปผสมกับคลื่นวิทยุพาหะ และ  เมื่อไปถึงผู้รับก็จะถูกถอดออกมาเป็นเสียงคำพูดอีก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้รหัสย่อ หรือ Q CODE  หรือ Q SIGNAL  นักวิทยุสมัครเล่นสากลจะต้องผ่านการสอบ รับ-ส่ง วิทยุโทรเลขขึ้นพื้นฐานที่อัตราความเร็วต่ำๆ ก่อน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ติดต่อในระบบวิทยุโทรเลขก็ตาม Q CODE พื้นฐานง่ายๆประมาณ 10 กว่าตัวก็ควรที่จะต้องทราบ

QRD  นั้นเป็น MARINE TIME Q CODE ใช้ในการเดินเรือ แปลตรงๆ ตัวว่า “ท่านกำลังมุ่งหน้าไปยังท่า(เรือ)ใด ? และท่านออกเดินทางมาจากท่า(เรือ)ใด?”  นักวิทยุสมัครเล่นระดับนานาชาติเล่นมาร่วม 50 ปีแล้วบอกว่ายังไม่เคยรู้เลยว่า QRD นี้คืออะไร เพิ่งมาได้ยินเกร่อไปหมดที่เมืองไทยนี่เอง { QRD ถึงไหนแล้ว? QRD เลี้ยวซ้าย QRD เลี้ยวขวา } ฟังแล้วมันให้น่ากลุ้ม ! (HS4 BBU เห็นด้วย)

QTR ใช่ “เวลา” ก็หาไม่  จริงแล้วไซร้คือ เขาอยากรู้ว่ากี่โมงแล้ว พูดให้ง่ายก็ขอเทียบเวลานั่นเอง ทำไมจึงชอบเอาคำเดียวมาใช้แทนความหมายของทั้งประโยคก็ไม่ทราบ (HS4 BBU เห็นด้วย)

QSL มิได้แปลว่า “ยืนยันว่าข้อความที่พูดมานั้นถูกต้อง” ถ้าในลักษณะของคำถามก็คือ “ท่านสามารถยืนยันไหมว่า ท่านรับข้อความได้ทั้งหมด” ในลักษณะคำตอบก็คือ “ข้าพเจ้ายืนยันว่าข้าพเจ้ารับข้อความได้ทั้งหมด” นี่ก็อีกตัวอย่างหนึ่งที่เอาคำเดียวมาใช้แต่ความหมายไม่ตรงกัน (HS4 BBU เฉยๆ)          

เฝ้าฟัง รวบรวม และ แซว โดย H S 1 H B     ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๙

Q S O อย่างไร ไม่ ดี ภาค2

***********

เรียกขาน-ตอบรับ

{ ตามญาติหน่อย – มาอึ้ยัง ? – มาแล้ว – เป็นไง ? ฟูลไม๋ ? – อะลายกัน ไปจนสุดตัวแล้วยังไม่ฟูลอีกเหลอ ? – สงสัยพาวเวอร์ซัพพลาย ๓๐ แอมป์ไม่พอ  ! – เป็นไง ? ตอนนี้ได้ซัพพลายใหม่มาแล้ว ๕๐ แอมป์ QRP หมดตัวแล้ว บื่อไม๋  คีย์เปล่า ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เป็นไง ?}

ภารกิจ

{ แถ็ก คับ แถ็ก – เชิญแถ็ก – ขอทราบ QRK หน่อย เพิ่งภารกิจเสาอากาศมา ! – ขณะนี้ผมมาภารกิจอักษรอยู่ใน กทม. – ตอนนี้ขอ QRX ก่อน เดี๋ยวจะต้องไปภารกิจข้าวต้มแล้ว – ท่านไปภารกิจเจ้าเครื่องโมบายนี่มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมผมไม่ยักกะโลเจ้อร์เลย ! }

                “ภารกิจ” พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๓๐ แปลไว้ว่า “งานที่จำต้องทำ” แต่ภาษาวิทยุวิบัติของไทยๆ เรา แปลว่า  ซื้อ ก็ได้ แปลว่า ขโมย ก็ได้ แปลว่า จัดทำ ก็ได้ แปลว่า ขอเขามา ก็ ได้ แปลว่า รับประทาน ก็ได้ ฯลฯ ช่างอเนกประสงค์ดีจริง ! (HS4 BBU เฉยๆ)

                “ภารกิจอักษร” ขอร้องอย่าได้นำมาใช้เลย เดี๋ยวจะเข้าข่ายล้อเลียน “ราชาศัพท์” กำลังเรียนหนังสือ หรือ กำลังศึกษา ก็ว่าไปไม่เห็นว่าจะเชยตรงไหน ? (แต่ไม่เท่ห์) (HS4 BBU เห็นด้วย)

เสาชัก-เสาสไล้ด์

                ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีคนจิตไม่ปกติขึ้นความถี่มาเที่ยวบอกนักวิทยุสมัครเล่นไทยว่าคำว่า “ชัก” นั้น เป็นคำสัปดน-ไม่สุภาพ ฉะนั้น ห้ามใช้เรียกสายอากาศว่า “เสาชัก” ให้เรียกเสียใหม่ว่า “เสาสไล้ด์ หรือ เสาเทเลสโคปิค”

            “ชัก” พจนานุกรมฯ แปลไว้ว่า “ดึงให้เคลื่อนไหวตามต้องการ; ดึง; นำ; เอาออก; สี; กระตุก; เหนี่ยว; กล้ามเนื้อกระตุกอย่างกะทันหันและรุนแรง” ดูแล้วก็ไม่พบว่ามีคำไหนที่ส่อไปในทางสัปดน หรือไม่สุภาพ ภาษาไทยของเราดีๆ อยู่แล้ว เรื่องอะไรจะต้องไปดัดจริตไปใช้ภาษาอื่นคำว่า “SLIDE” ภาษาอังกฤษแปลว่า “เลื่อน” หรือ ลื่นไถล หรือ ลื่น เช่นไม้ลื่นที่ให้เด็กเล่น” เป็นต้น ฉะนั้นอย่าไปเชื่อคนจิตทรามที่คิดสัปดนไปเองเลย เรียก “เสาชัก” รับรองว่าไม่ผิดและไม่ติดตารางแน่ๆ เลิก “สไล้ด์” กันเสียทีเถิด  จักขอบคุณยิ่ง (HS4 BBU ไม่เห็นด้วยจะเรียกอะไรก็ได้)

                “เสาสไล้ด์ ๘ ท่อน, ๙ ท่อน, ๑๐ ท่อน ฯลฯ”  มันไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นในแง่ของยักวิทยุสมัครเล่นถ้าจะบอกชนิดของสายอากาศ ว่าเป็น๑/๔ แลมด้า, HALF WAVE, ๕/๘ หรือ ๗/๘ แลมด้า นั่นแหละจึงจะเข้าท่า เพราะว่าจำนวนท่อนนั้นก็ไม่รู้ว่าท่อนละ ๓ เซนติเมตร หรือ ๑๐ ซม. (HS4 BBU เฉยๆ)

ทราบเลย !

                { ทราบเล้ย ! ผมก็ไม่ทราบซีว่าร้านที่ท่านถามน่ำมันอยู่ที่ไหน? }

                จะสังเกตุว่า ขึ้นต้นของทุกประโยคจะต้องเริ่มด้วยคำว่า “ทราบเลย” โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ พอจะทราบที่มาของคำนี้ว่าพัฒนามาจาก “ว.๒ – ว.๘” ไหนๆ ก็เข้ามาเป็นนักวิทยุสมัครเล่นอย่างถูกต้องเต็มตัวแล้ว  พยายามลืม “ว.ถ.” ให้หมดสิ้นซากสีเถิด (HS4 BBU  เฉยๆ จะทราบหรือไม่ทราบก็ไม่เห็นเป็นไร)

Q R M

                { จะกดหาอะไรวะ ? – สงสัยญาติเสีย – บรรพบุรุษมันไม่เดือดร้อนบ้างหรือไง ? – บิดามารดามันคงไม่ได้สั่งได้สอนมา – ของผมผ่านไม๊ ? – เครื่องกระจอกๆ อย่างนี้อย่ามากดให้เสียเวลาเปล่าๆ แน่จริงกดยาวๆ อีกหน่อยซี – แน่จริงออกมาเจอกันเลย }

                เคยบอกแล้วว่า นักวิทยุประกอบขึ้นด้วยคนทุกประเภท ประเภท “โรคจิต” ก็มีรวมอยู่ด้วย วิธีตอบโต้กับ QRM ที่ดีที่สุดก็คือวิธี “วางเฉย” ไม่โต้ตอบใดๆทั้งสิ้นไม่ต้องไปเอ่ยถึง ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ QSO ได้ก็ QSO ถ้าไม่ได้ก็หยุด ถ้าไปเอ่ยถึงก็เป็นการยืนยันว่าเขาแกล้งได้ผล ยิ่งเขาทำให้ท่านหัวเสียได้เท่าใด ก็เป็นความสนุกของเขาเท่านั้น มนุษย์โรคจิตเหล่านี้เขาจะสนุกของเขาถ้าเขาทำงานได้ผลเพราะเขาอยู่ใน”ที่มืด” แต่เราเองอยู่ในที่สว่าง  หากเราหลงกลไปตอบโต้เขาด้วยวาจาที่ไม่เหมาะสม เราเองยิ่งเป็นฝ่ายเสียหนักขึ้นไปอีก ก็ยิ่งสนุกเขาใหญ่ (HS4 BBU เห็นด้วยอย่างยิ่งยวด แต่บางครั้งมันก็น่า.........)

เฝ้าฟัง  และ  รวบรวม  มาแซวต่อ โดย H S 1 H B

๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๙

ภาษาประหลาดๆ ที่ไม่น่าเอามาใช้ในการ QSO

********************************

“ภารกิจที่เหลือด้วยความราบรื่น ร่ำรวย ๆ สุขภาพแข็งแรง อายุมั่นขวัญยืน ฯ ล ฯ”  (HS4 BBU ไม่เห็นด้วย สังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อ ไปลามาไหว้ ฯลฯ)

                ภาษาวิทยุ คำว่า “๗๓ หรือ ๘๘” ซึ่งแปลว่า “ด้วยความปรารถนาดี” มีความหมายสมบูรณ์ดีเพียงพอแล้วสำหรับการล่ำลาเมื่อจบการสนทนา คำฟุ่มเฟือยไม่เป็นที่นิยมในภาษาวิทยุ

                “มีคอนแถ็กแน่ะ เชิญท่านรับคอนแถ็กหน่อย”

                ก็มันเรื่องอะไรล่ะ คอนแถ็กคับคอนแถ็ก ใครจะคอนแถ็กใครก็ไม่ทราบ อยากจะรับก็เชิญรับไปซี เรื่องอะไรจะต้องเที่ยวมาเชิญให้คนอื่นเขารับคอนแถ็กด้วยล่ะ ! (HS4 BBU ไม่เห็นด้วย การที่เชิญคนอื่นรับ แสดงว่าขณะนั้นอาจจะไม่ว่าง หรือรับสัญญาณไม่ชัดเจน)

                 “ม้อดลงเต็มจอเลย”

                                INTER-MODULATION  คือ การผสมกันของความถี่ RF หลายๆ ความถี่ ตั้งแต่สองความถี่เป็นต้นไป  ในหลายๆ รูปแบบ ทำให้เกิดความถี่ผลลัพธ์ออกมา ซึ่งบังเอิญมาตรงกับความถี่ใช้งานของเราจึงจะก่อให้เกิดการรบกวนขึ้น ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็เป็น “ม้อด” ไปหมด (HS4 BBU เห็นด้วย)

                 “ผู้ใดทำคีย์ค้าง ตรวจสอบด้วย เดี๋ยวเครื่องพัง”

                                โธ่ ! ก็คีย์เขาค้างอยู่ ให้อัดไปสัก ๕๐๐ วัตต์ จ้างเขาก็ไม่ได้ยิน รอให้หลุดก่อนจึงแจ้งก็ได้ (HS4 BBU เห็นด้วยอย่างยิ่ง)

                “ S ไม่เกิด ขึ้นแค่บูซี่”

                                S Meter ไม่ขึ้น หรือ ไม่แสดงผล พูดแล้วมันไม่เท่ห์หรือไง ? (HS4 BBU มันก็ไม่เทห์หรอกครับ แต่ถ้าจำไม่ผิดผมเป็นคนแรกในโลกที่ใช้คำว่า S ไม่กำเนิด ประมาณปี 2535

                               หรือถ้ามีคนใช้ก่อนหน้านี้ก็ขออภัยด้วยนะครับ อิอิ !!)

                                BUSY ภาษาฝรั่งมังค่าภาษานี้แปลก TO=ทู   GO=โก  FOR=ฟอร์  FOUR=ฟอร์  TOUR=ทัวร์  BUSY=บิซี่ BUSINESS=บิซเนส   DUTY=ดิวตี้   FUR=เฟอร์  PURR=เพอร์   PER=เพอร์  BLUR=บเลอร์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภาษา บิดา-มารดา ของเราก็ตาม แต่ถ้าเราจะไปใช้ของเขาก็พยายามสักนิดเผื่อเขาจะได้ฟังออกบ้าง ผิดบ้าง ถูกบ้าง ไม่ว่ากัน  แต่ถ้ารู้ว่าผิดแล้วแก้ไข  นี่ซีที่น่านับถือ

( "BUSY" ออกเสียงว่า "บิซิ" แปลในทางวิทยุว่า "ช่องความถี่ไม่ว่างมีคนใช้งานอยู่ หรือในทางเทคนิคก็คือรับสัญญาณ Carrier wave (คลื่นพาหะ) ได้" อันนี้ HS4 BBU เห็นด้วยอย่างยิ่งยวด ฟังแล้วรำคาญหูมั๊กๆ ผมก็ไม่ได้เก่งภาษาหรอกนะครับ มันออกเสียงได้กันได้ยังไง ว่า "บุสซี่" เออถ้าอ่านว่า "บิวซี่" ก็พอจะให้อภัยกันได้..เหอะๆ)

                “ขออนุญาตใช้ความถี่หน่อย ขอเรียกสักสามคีย์ E20XYZ/E20ZYX    E20XYZ/E20ZYX   E20XYZ/E20ZYX เรียกครั้งที่สาม ได้ยินม้าย ได้ยินแล้วตอบด้วย !!! ไม่ตอบ ๗๓ ขอบคุณที่ให้ใช้ความถี่”

                เขาใช้ความถี่กันอยู่ ไม่ต้องฟังอีร้าค่าอีรม มาถึงก็ลุยเลย คู่สถานีเขากำลังเขากำลังมีข้อความต่อเนื่องกันอยู่หรือเปล่า  ขออนุญาติใช้ความถี่หน่อยไม่ต้องปล่อยคีย์ ถือว่าขอแล้วมารยาทดีแล้ว ลุยเลย !

(HS4 BBU เห็นด้วย)

                “วิดเดอะกุ๊ป ไทย-แม๊กซีกัน มีใครอยู่บ้าง

                                “with the group” ภาษาวิทยุสมัครเล่นมีความหมายว่า ในขณะที่กำลัง QSO อยู่นั้น มีเกินกว่า ๑ คู่สถานี เราเติมคำว่า “with the group” หลังการขาน CALL SIGN เพื่อให้คู่สถานีที่กำลังรอจังหวะที่จะเข้ามา QSO ด้วย  อุ่นใจว่าเรายังไม่ลืมว่าเข้ายังรออยู่ในความถี่  มิได้มีความหมายว่าเป็นกลุ่ม-คณะ ชมรม หรือ แก๊ง-ก๊วน ใดๆ ทั้งสิ้น เคยได้ยินบ่นกันว่า “แถ็กเท่าไหร่ เขาก็ไม่รับแถ็ก  เราไม่ใช่วิดเดอะกุ๊ปเขา  เขาเลยไม่ยอมรับแถ็ก” (HS4 BBU เห็นด้วยอย่างยิ่ง)

                “ขอกราบประทานอภัย”

                                เพียงแค่ “ขออภัย” ก็เพียงพอแล้ว ภาษาที่สุภาพเกินเหตุ ใช่ว่าจะดีเสมอไปโดยเฉพาะคำว่า “ประทาน” ไม่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไป (HS4 BBU เห็นด้วย)

เฝ้าฟัง และ รวบรวม โดย H S 1 H B

๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๙

Q S O อย่างไรดี  !

* * * * *

1. ฟังให้มาก  หากตั้งใจ  คัดเลือกไว้  แต่ส่วนดี  อย่าให้มี  เสียงกวนใด  ในสถานี  เล็ดลอดไป กับความถี่  ตรวจสอบ  ให้แน่ดีก่อนกดคีย์  ออกอากาศไป

2.  กะจังหวะ จะเรียกขาน คาดการณ์ว่า คู่สถานี ที่เรียกหา พร้อมจะมา QSO

3. เรียกช่วงสั้น คั่นช่องว่าง เพื่อฟังตอบ ชัดถ้อยคำ ไม่ช้าเร็ว จนเกินไป เรียกสั้นๆ สามครั้งดี กว่าเรียกยาว เพียงครั้งเดียว

                4. กดคีย์แน่น แล้งจึงพูด ปากชิดไมค์ ไม่ตะโกน ก็เพราะดี

5. จดสัญญาณ เรียกขานเพื่อน ไม่เลอะเลือน และเวียนมา น่าเบื่อหน่าย

6. พูดอะไร ให้ติดต่อ ใจจดจ่อ ไม่สับสน

7. พูดสบายๆ คล้ายธรรมชาติ QSO ไม่เสแสร้ง แกล้งเป็นงาน มีรสชาติ ปราศจาก เรื่องส่วนตัว และโอ้อวด QSO ที่เหมาะสม ถูกกาละ และเทศะ คือทักษะ การสื่อสาร เพื่อนย่อมเห็น เป็นพยาน ว่าสถานี มีมาตรฐาน

8. ก่อนเรียกขาน ปรับสัญญาณ จนเสียงซู่ เพื่อตรวจดู ว่าผู้ใด ใช้ความถี่ อยู่หรือเปล่า ฟังสักพัก หากให้แน่ แค่สอบถาม “มีท่านใด ใช้ความถี่ นี้อยู่ไหม? จาก H2 (E2)…” สักสองรอบ หากไม่มี เสียงใดตอบ ก็ชอบที่ ว่าความถี่ ที่ข้าฯ ถาม นี้ว่างอยู่

9. เมื่อตอบรับ ต้องชัดเจน อย่าพิเรน  “ต๊อบ-ต๊อบ-ต๊อบ” ฟังไพเราะ เสนาะหูกว่า หากตอบว่า “HS… ตอบ E2…ครับ (ค่ะ)

10. “” กำลังเรียก “” ; “” ยังไม่ทันตอบ “” ; “” ยังไม่ทัน CLEAR ; ไม่สมควรที่ “” จะรีบเรียก “” เขาไป จะรีบร้อนอะไรกัน เช่นนั้นหนา  รอให้  “” แจ้งร่ำลา (CLEAR หรือ STAND BY) ก่อนแล้วจึง เรียกก็ได้ เขาคงไม่ ปิด (เครื่อง) ทันใด ให้ตายซี

11. จะขอเข้า ร่วมสนทนา อย่าลืมว่า นามเรียกขาน น้ำสำคัญ มิฉะนั้น คงไม่ตอบ ไม่รู้สอบ มาหรือเปล่า “แถ็ก คับ แถ็ก” กับ “เบค คับ เบค” อย่าดีกว่า ฟังแล้วว่า ไม่เข้าท่า เอาเสียเลย

12. จงอย่าเป็น “เสือปืนไว” เว้นช่องไว้ สองสามวิ สีเพื่อนฝูง ขอช่วยเหลือ จะเอื้อเฟื้อ ได้สักที

13. สมัครเล่น ที่เป็นแล้ว QRK 4-5 ก็ว่าแจ๋ว สุดแสนเบื่อ เมื่อ FULL SCALE ตลอดกาล อย่าให้ใคร เข้าเฝ้าว่า “พ่อปากกว้าง แต่หูตึง”           

14. คำฟุ่มเฟือย ไร้ความหมาย พยายามเลิกใช้ จะดีกว่า “OK” นั้น มันเท่ห์ไฉน ใช้ให้เกร่อ แถม “โลเจ้อ คับ โลเจ้อ” “XYL” เขาใช้กัน ทั่วโลกา มาเมืองไทย ไหงเป็น “X” หรือไม่ก็ “X-RAY” “ผมขับรถ” พูดไม่โก้ จำต้องโว “DRIVE MOBILE” QRD เลี้ยวซ้าย QRDตรงไป QRD เลี้ยวขวา ฝรั่งเขาเล่น กันมาทั่ว ต้องมากลัว ทั่วเมืองไทย QRD จริงแล้วไซร้ ใช้เดินเรือ บอกไม่เชื่อ MARITINE Q-CODE คือถามว่า “ท่านมุ่งหน้า ไปท่า(เรือ)ใด และท่านออกมา จากท่า(เรือ)ไหน? QTR ใช่เวลา ก็หาไม่ QTR ไม่ว่างเว้น สุดเข็ญใจ คำว่า “บ้าน” ภาษาไทย ไหงไม่ใช้ คำว่า “รถ” อดไม่ได้ ต้อง MOBILE มันน่าอาย หรืออย่างไร ถ้าพูดไทย

15. การค้า การเมือง เรื่องศาสนา อย่านำมา QSO หาเรื่องโม้ มีถมไป

16. ความลับนี้ ว่าไม่มี ในอากาศ จงอย่าพลาด ไม่เดียงสา เผลอโอภา ภาษารัก หากจะพลอด ปลอดภัยกว่า ทาง LAND LINE

แปล แปลง รวบรวม และ เรียบเรียง

โดย H S 1 H B

การเช็คเน็ท

                เน็ท หรือ เน็ทเวอร์ค คือ “เครือข่าย” ในกิจการวิทยุสมัครเล่น การ “เช็คเน็ท” นิยมกระทำกันใน วันและ เวลาที่กำหนดเป็นที่แน่นอนที่แจ้งให้บรรดานักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ทราบโดยทั่วกัน การ “เช็คเน็ท”ไม่มีกติกาว่า จะต้องเช็คทุกวัน วันละหนึ่งครั้งเท่านั้น สามารถจะกำหนดอย่างไรก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของผู้ที่อาสาจะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ (Net Operator) เช่น จะเช็ควันละสองครั้ง เช้า-เย็น หรือ จะเช็คเฉพาะบางวันของสัปดาห์ ฯลฯ ก็ได้

            วัตถุประสงค์:
 การ “เช็คเน็ท” มีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อ:
             1. ตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์สื่อสาร และฝึกฝนผู้ทำหน้าที่  Net Operator/Controller
              2. ให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่น ที่กำลังตกระกำลำบากและต้องการความช่วยเหลืออยู่
               3. แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับวงการวิทยุสมัครเล่น ข่าวสารทั่วไป หรือ การขอรับความช่วยเหลือที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น การขอบริจาคโลหิต ขอบริจาคสิ่งของเพื่อการกุศล ฯลฯ 
                4. เป็นจุดนัดพบสำหรับเพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นที่ต้องการติดต่อกัน หรือ ผู้ที่ห่างเหินวงการไปนาน ป.ล. ผู้ที่เช็คเน็ทเข้ามา คือ ผู้ที่พร้อมรับการติดต่อจากเพื่อนๆ ฉะนั้น เมื่อเช็คเข้ามาแล้ว อย่า QSY/QRT ไปทันที ผู้ที่จะขอติดต่อกันในช่วงที่การ “เช็คเน็ท” กำลังดำเนินอยู่ ควรเตรียมหาความถี่ไว้ล่วงหน้า เพื่อ QSY ไปติดต่อกัน เมื่อได้พบกันแล้วในความถี่ Net หรือ สามารถฝากข้อความไว้กับ Net Operator เช่น ถ้า HS/E2- - - -  เช็คเข้ามา กรุณาแจ้งให้ QSY ไปพบ HS/E2- - - - ที่- - -.- - - - Mhz ด้วยจักขอบพระคุณยิ่ง
               เมื่อถึงเวลานัดหมาย ผู้อาสาทำหน้าที่ (Net Operator) จะขึ้นความถี่มาประกาศ (ตัวอย่างข้อความ)
                   CQ CQ CQ จาก (ชมรม/สมาคม/กลุ่มนักวิทยุสมัครเล่น - - - -)ขณะนี้เวลา - - - - นาฬิกา จนถึง เวลา - - - - นาฬิกา วัน (จันทร์,อังคาร ฯ) ที่ - - เดือน - - พุทธศักราช - - - - เปิดทำการเช็คเน็ทประจำ (วัน ฯ ) จากสถานีวิทยุสมัครเล่น HS/E2 - - - - QTH - - - - ใช้สายอากาศรอบตัวชนิด - - - - สายอากาศทิศทางชนิด - - - - ระดับความสูงของเสาอากาศ - - - - เครื่องวิทยุ - - - -
                เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นที่มีความประสงค์จะร่วมเช็คเน็ทกับ (ชมรม/สมาคม/กลุ่ม - - - -) ซึ่งจะเปิดทำการเช็คเน็ทเป็นประจำ (ทุกวัน หรือ ยกเว้น ฯลฯ) โดยเริ่มที่ เวลา - - - - ตรง กรุณาปรับความถี่มาที่ - - - . - - - - Mhz (เวลาที่ใช้เช็คเน็ทแต่ละครั้งไม่ควรนานเกินกว่า 30-45 นาที)
                วันนี้ผม/ดิฉัน
HS/E2  - - - - ทำหน้าที่ Net Operator ยินดีขอต้อนรับเพื่อนๆ ที่ประสงค์จะร่วมเช็คเน็ท
                 ลำดับแรก มีท่านใดที่ต้องความช่วยเหลือเร่งด่วนโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ เชิญเรียกเข้ามาก่อน มีไหมครับ/คะ
  หาก Net Operator รับไม่ได้ ท่านใดรับได้กรุณาช่วย QSP ให้ด้วย (รอสักพัก หรือจะเรียกซ้ำสักสองครั้งก็แล้วแต่จะเห็นสมควร) ถ้าไม่มีแล้ว ท่านใดต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่น  เช่นจะถามเส้นทาง หรือ ยานพาหนะขัดข้อง หรือ อื่นๆใด เชิญเรียกเข้ามาได้ครับ/ค่ะ
                ต่อไปขอเชิญสถานีที่อยู่ต่างจังหวัดนอกพื้นที่ (กับจังหวัดที่เน็ทตั้งอยู่) สถานีเคลื่อนที่ (
Mobile Station) และสถานีกำลังส่งต่ำที่ใช้สายอากาศติดกับตัวเครื่อง เรียกเข้ามาได้ ส่วนสถานีประจำในพื้นที่กรุณารอสักครู่ (ตัวอย่างการตอบ: HS/E2 - - - -  สัญญาณ 4-3 QRU ครับ/ค่ะ, เมื่อเขาตอบ QRU 73 ตอบ 73 ครับ/ค่ะ, เชิญท่านต่อไปครับ/ค่ะ)
                ต่อไปขอเชิญสถานี
YL สุภาพสตรี เรียกเข้ามาได้ครับ/ค่ะ
                ต่อไปขอเชิญท่านที่ประสงค์จะร่วมเช็คเน็ท หรือ ท่านที่ต้องการจะตามหาเพื่อนสมาชิก กรุณาหาความถี่ที่พร้อมจะ
QSY ไป ไว้ล่วงหน้าด้วย เรียกเข้ามาได้ครับ/ค่ะ
                ยังมีท่านใดที่ประสงค์จะร่วมเช็คเน็ทกับ (ชมรม/สมาคม/กลุ่ม - - - -) ประจำวันนี้อีกหรือไม่ครับ/ค่ะ
? (ทิ้งช่วงเวลาเล็กน้อยแล้วจึงเรียกซ้ำอีก 1-2 ครั้ง) ถ้าไม่มีผู้ใดเรียกขานอีกแล้ว ขอปิดการเช็คเน็ทประจำวันนี้แต่เพียงเท่านี้ วันนี้มีผู้ร่วมเช็คเน็ทรวมทั้งสิ้น - - -  ท่าน ขอขอบพระคุณทุกๆท่านที่ให้ความร่วมมือ พบกับ ผม/ดิฉันอีกในวัน - - - -  เรียนเชิญเพื่อนๆใช้ความถี่ตามปกติครับ/ค่ะ 73/88  จาก HS/E2  - - - -                                                                                                                                                    
รวบรวม เรียบเรียง โดย  H S 1 H B   9 ธันวาคม 2548

 ภาษิตท้ายหน้า

จาก

ทะเบียน สมาชิกชมรมวิทยุอาสาสมัคร กรมไปรษณีย์โทรเลข

พ.ศ. ๒๕๒๖

*  *  *

 

ความลับนี้        ไม่มีในอากาศ

อย่านึกว่าท่านใช้กำลังส่งต่ำๆ      แล้วจะไม่มีใครรับสัญญาณได้

อย่าเผลอคิดว่าท่านกำลัง      คุยกันอยู่เพียงสองต่อสอง

        ก่อนเรียกขาน    ตรวจว่าความถี่นี้ว่าง

อย่าเกรงใจคนชั่ว     อย่ากลัวคนเกลียด

   อย่าปล่อยกลิ่นไอ     แอลกอฮอล์ในอากาศ

   คิดถึงใจจะขาด    ออกอากาศเสียบ้าง

หวานเป็นลม  ขมนั้นเป็นยา

 

กระเซ้าเย้าแหย่  แต่พอควร    เพ้อเจ้อ  ไร้สาระ  มิใช่นักวิทยุ

สติเฟื่อง  ปราดเปรื่องนักหนา สารพัดวิชา     ช่างหามาคุย  ทดสอบสัญญาณ  ไม่สร่างไม่ซา

ต้องใช้ให้คุ้ม  จับกลุ่มหรรษา ใครว่าก็ช่าง     อนุญาตข้ามี  เลี่ยงไปเลี่ยงมา  สักวันคงเจอดี

 

 ภาษาวิทยุเป็นภาษาพิเศษที่ทรงเกียรติ       ท่านเป็นผู้หนึ่งที่โชคดี

  จงช่วยกันรักษาเกียรติอันนี้ไว้ตลอดไป     ไม่ว่าท่านจะสนิทสนมกันเพียงใด

                                                                    หรือจะไม่เคยพบหน้าค่าตากันเลยก็ตาม     ภาษาวิทยุมีอยู่เพียงภาษาเดียวเท่านั้น

 

ดึกดื่นรุ่งสาง  ตาสว่างนกฮูก  ปลุกพี่ป้าน้าอา     ตัวข้าฯ นี้เก่ง   เร่งไดร๊ฟ์โมบายล์  ฉุยฉายทั่วกรุง

“โฮม”  แปลว่า “บ้าน”  ถ้าจะบอก    ตำแหน่งที่อยู่คือ “โฮม คิว ที เอ็ช”

“ร้อดเจอร์” แปลว่า “รับทราบ (ในทำนองเข้าใจ     และรับปฏิบัติ)  มิได้หมายความว่า “รู้ หรือ รู้จัก”

“คิว อาร์ ดี” มาจากไหน  จะไปไหน? “คิว อาร์ ดี๑”     “คิว อาร์ ดี๒” ถือว่าเป็นรหัสที่ตั้งขึ้นเองในกลุ่มบุคคล

        อยากเป็นเอกบุรุษ     จงสร้างเอกลักษณ์เข้าเถิด

“แทรฟฟิค” ในภาษาวิทยุหมายความถึง     ข้อความที่ติดต่อสื่อสารกัน ไม่ใช่ภารกิจอื่นใดทั้งสิ้น

 “เจ็ดสิบสาม”  ไม่ใช่ “เจ็ดสาม”     “แปดสิบแปด”  ไม่ใช่ “แปดแปด”

 เรียกขานกัน  อย่าลืม      HS หรือ E2 นำหน้า

รวบรวม  ต้นฉบับ  และ  ปรับปรุง โดย H S 1 H B

๒๓  มกราคม ๒๕๓๙