เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ พวกเราได้มีโอกาสรับฟังพระราชกระแสของพระองค์ท่านผ่านข่ายวิทยุอาสาสมัคร เป็นครั้งแรก ภายหลังที่นักวิทยุอาสาสมัครได้ร่วมกันกล่าวคำถวายพระพรทางวิทยุในวันพระ ชนมพรรษาปีนั้นว่า “วีอาร์ ๐๐๑ จาก วีอาร์ ๐๐๙ ขอขอบใจวีอาร์ทุกคน”

                ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสาสมัคร โดยได้ทรงทดสอบสัญญาณ รายงานสถานภาพของสถานี หรือ เช็คเนตกับศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ของกรมไปรษณีย์โทรเลขตามระเบียบที่วางไว้เป็นประจำ พระองค์ท่านได้ทรงเคร่งครัดต่อระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์กติกาของชมรมวิทยุ อาสาสมัคร เช่นเดียวกับนักวิทยุอาสาสมัครทั่วไป ทรงจดจำ ประมวลสัญญาณ หรือ Q-Codes ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายได้อย่างแม่นยำ

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักดีว่า นักวิทยุอาสาสมัครจำนวนไม่น้อยมีความสนใจที่จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมใน ด้านเทคนิคการติดต่อสื่อสารทางวิทยุเพื่อพัฒนาตนเองให้มีทักษะเพิ่มมากยิ่ง ขึ้น ในฐานะที่พระองค์ท่านได้ทรงมีความรู้ และประสบการณ์ในเทคนิคแขนงนี้สูงกว่า เนื่องจากได้ทรงผูกพันอยู่กับเรื่องการสื่อสารทางวิทยุมาก่อนเป็นเวลา นานกว่า ๑๓ ปี จึงทรงพระกรุณาที่จะพระราชทานความรู้เพิ่มเติมให้แก่นักวิทยุอาสาสมัครอยู่ เป็นประจำ โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ ซึ่งเป็นนักวิทยุอาสาสมัคร ตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคนิคในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุ เช่น เรื่องการแผ่กระจายของคลื่นวิทยุ สายอากาศ เป็นต้น และให้ผมเป็นผู้ตอบปัญหาทางอากาศขึ้นทุกตอนเย็นเป็นประจำในช่วงเวลาประมาณ ๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. เพื่อให้นักวิทยุอาสาสมัครอื่นๆ ที่มีความสนใจได้รับฟังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ไปด้วย ในบางโอกาส ได้ทรงเข้าร่วมสนทนาด้วย ในโอกาสนี้ จะทรงช่วยขยายความคำอธิบายตอบปัญหาของผมซึ่งทรงเห็นว่า สั้นเกินไป ฟังแล้วยังเข้าใจยาก เพื่อให้ผู้รับฟังได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

                นักวิทยุอาสาสมัครหลายท่านได้รับการต่อว่าจากตำรวจท้องที่หลายครั้งว่าข่าย วิทยุอาสาสมัคร หรือ ข่ายวีอาร์ เข้าไปกวนข่ายวิทยุของตำรวจนครบาลเหนือ (รามา) และนครบาลธนบุรี (กรุงธน) อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ความถี่ห่างกันมาก จึงได้หยิบยกปัญหานี้มาออกอากาศ ขอรับคำแนะนำจากผู้รู้ในรายการตอบปัญหาทางอากาศในข่ายวิทยุอาสาสมัครประจำ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงพระกรุณากำกับรายการนี้อยู่ จึงได้ทรงหยิบยกประเด็นปัญหานี้มาเฉลยว่า ขอให้ทดลองนำเอาความถี่ของข่ายวีอาร์ (ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเป็นช่อง ๒ หรือช่อง ๓ เดิม) ไปลบจากความถี่ของตำรวจดูจะได้ผลลัพธ์เท่ากับความถี่ IF ของเครื่องรับ-ส่งวิทยุมือถือ ICOM แบบ ๐๒ N หรือ ๐๒ A คือ ๑๖.๙๐ MHz หารด้วย ๒ หรือ ๘.๔๕ MHz ที่ตำรวจใช้กันอยู่ในขณะนั้นพอดี

                เครื่องรับ-ส่งวิทยุประจำที่ซึ่งได้ทรงใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายวิทยุ อาสาสมัครเป็นเครื่องวิทยุยี่ห้อ “YAESU” รุ่น FT-726 ซึ่งเป็นเครื่องยี่ห้อและรุ่นเดียวกับที่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ใช้ เครื่องวิทยุดังกล่าวมีหน้าปัด มีปุ่มควบคุมบังคับการทำงานในหน้าที่ต่างๆ ค่อนข้างสลับซับซ้อน สร้างความยุ่งยากสับสนแก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำวิธีใช้ที่ถูก ต้องอยู่เป็นประจำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ใช้เครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ประสบปัญหาทางเทคนิคต่างๆ อาทิ การรบกวนในลักษณะการผสมคลื่นระหว่างกัน (Intermodulation) การแผ่กระจายคลื่นที่ไม่ต้องการ (Spurious Radiations) จากสถานีวิทยุกระจายเสียง ๑ ปณ. ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และจากสถานีวิทยุคมนาคมอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากความถี่ที่ใช้งานคลาดเคลื่อน อัตราการผสมคลื่น (Modulation Index) มากเกินพิกัด เป็นต้น

                เรื่องการรบกวนจากสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ สถานีวิทยุคมนาคมจนเป็นเหตุให้เกิดการรบกวน มีเสียงจากรายการวิทยุกระจายเสียงเข้ามาสอดแทรกระหว่างการติดต่อสื่อสารนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน เนื่องจากในบริเวณสวนจิตรลดา มีสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส. ซึ่งมีกำลังส่งสูง ตั้งอยู่ไม่ห่างจากพระตำหนักฯ มากนัก การติดต่อสื่อสารทางวิทยุของพระองค์ท่านจึงถูกสถานีวิทยุแห่งนี้รบกวนมาแล้ว และได้ทรงทดลองศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ได้ ดังนั้น เมื่อได้ทรงสังเกตพบในระหว่างที่ได้ทรงรับฟังสัญญาณจากศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ว่า กำลังประสบปัญหาถูกรบกวนจากสถานีวิทยุกระจายเสียง ๑ ปณ. ซึ่งมีกำลังส่งสูงและตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน จึงได้ทรงพระกรุณาพระราชทานแนะนำให้มีการตรวจสอบระบบสายดิน (Ground) ของไมโครโฟน และสายที่เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องวิทยุ ด้วยเหตุผลว่า หากระบบสายดินไม่ดี ต่อไว้ไม่แน่น หรือ ขั้วต่อรอยต่อไม่สะอาดเป็นสนิม จะเกิดการชักนำเอาสัญญาณวิทยุกระจายเสียงเข้ามาทำให้เกิดการรบกวนขึ้นได้ หากระบบสายดินเป็นปกติเรียบร้อยดี คงจะต้องต่อวงจรกรองสัญญาณย่านต่ำ (Low Pass Filter) เพื่อป้องกันการรบกวนอีกชั้นหนึ่ง

                มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในขณะที่ทรงเฝ้าฟังการทำงานของศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” อยู่ ได้ทรงสังเกตพบว่า มีสัญญาณอื่นแปลกปลอมเข้ามารบกวนในช่องสัญญาณความถี่กลางของศูนย์ฯ มีความแรงสูงมากเป็นเหตุให้ไม่สามารถรับฟังสัญญาณจากสถานีลูกข่ายได้ พระองค์ท่านได้ทรงพระกรุณาแนะนำให้ศูนย์ฯ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนที่เรียกว่า “คาวิตี้ ฟิลเตอร์ (Cavity Filter)” ซึ่งศูนย์ฯ ใช้งานอยู่ ให้มีขีดความสมารถในการบั่นทอนความแรงของสัญญาณวิทยุที่มีความถี่ไม่ตรงกับ ช่องปฏิบัติงานให้ได้มากยิ่งขึ้นจึงจะสามารถขจัดปัดเป่าปัญหาการรบกวนได้ โดยได้รับสั่งอธิบายทางอากาศให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และนักวิทยุอาสาสมัครที่ร่วมรับฟังอยู่ในข่ายในขณะนั้นโดยการเปรียบเทียบ ความหมายของ “คาวิตี้” ให้เข้าใจได้ง่ายว่า “คาวิตี้ แปลว่า ช่องโหว่ เช่นเดียวกับช่องโหว่ของฟันที่ทำให้เราปวดฟัน…”

                ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ใช้เสาสายอากาศที่มีความสูงมาก อยู่ในที่โล่งแจ้งพอสมควร จึงประสบปัญหาเรื่องอสุนีบาต หรือ ฟ้าลง เป็นประจำ ในขณะที่ฝนฟ้าคะนองรุนแรง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ บางคนอยู่ในอาการหวาดผวา ไม่อยากที่จะปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกับสถานีลูกข่ายในสภาพอากาศเช่นนั้น ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำที่เป็นหลักวิชา ข้อปฏิบัติ และวิธีการป้องกันฟ้าผ่าให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ได้มีความรู้และเข้าใจ เช่น การปรับปรุงระบบสายดิน ฯลฯ

                วิธีการติดต่อสื่อสารในข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นแบบซิมเเปล็กซ์ (Simplex) ซึ่งผู้ส่งข่าว จะต้องกดคีย์ที่ไมโครโฟนเพื่อบังคับให้เครื่องส่งวิทยุทำงานส่งก่อน แล้วจึงพูดส่งข้อความไปพร้อมกับคลื่นวิทยุนำสัญญาณ หรือ คลื่นพาห์ (Carrier Wave) เมื่อส่งข้อความจบ จึงจะกล่าวคำว่า “เปลี่ยน” แล้วจึงปล่อยคีย์ เพื่อเปิดโอกาสให้คู่สถานีโต้ตอบกลับมาได้ มีอยู่บ่อยครั้งที่มีการกดคีย์ที่ไมโครโฟนนี้ค้างไว้ ทำให้เครื่องส่งวิทยุนั้นส่งคลื่นวิทยุนำสัญญาณแแผ่กระจายออกมาตลอดเวลาทั้ง โดยเจตนาเพราะไม่มีวินัยไร้มารยาทในการติดต่อสื่อสาร และทั้งโดยไม่เจตนา เป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่นั้นติดต่อกันได้ บางทีก็ใช้วิธีกดคีย์ไมโครโฟนเข้าแทรกในจังหวะเวลาช่องว่างระหว่างการสนทนา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในขณะที่กำลังพระราชทานคำแนะนำในด้านวิชาการให้แก่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ได้มีการกระทำในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระยะสั้นๆ หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรวจสอบความแรงของสัญญาณ และความถี่ของสถานีวิทยุที่กดคีย์เข้ามาแล้ว ทรงทราบว่า เป็นสัญญาณที่แปลกปลอมเข้ามา จึงได้รับสั่งให้ผู้ที่กำลังรับฟังพระราชกระแสอยู่ว่า “คงเป็นเพราะเราผูกขาดความถี่มานานพอสมควร คนอื่นอยากเข้ามา ถ้าเข้ามาก็เชิญ วีอาร์-๐๐๙ เคลียร์ ไม่ต้องเบรก” (เคลียร์=Clear เป็นภาษาพูดของนักวิทยุอาสาสมัครแจ้งความประสงค์ขอเลิกการติดต่อ เบรก=Break เป็นภาษาพูดของนักวิทยุอาสาสมัครแจ้งความประสงค์ขอเข้าแทรกระหว่างการสนทนา ในช่องสัญญาณทางวิทยุของคู่สถานีหนึ่ง)

                ดังที่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งในการจัดตั้งชมรมนักวิทยุ อาสาสมัคร คือ การอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมส่วนรวมโดยการรายงานข่าวปัญหาสำคัญต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชม สาธารณสถาน ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับทราบและแก้ไขปัญหาได้ทัน เหตุการณ์โดยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ตนครอบครองเป็นเครื่องมือรายงานข่าว

                ภารกิจสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งผู้ที่เคยเป็นนักวิทยุอาสาสมัครและนักวิทยุสมัคร เล่นไทย สมควรรับทราบ จดจำ และบันทึกไว้เล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป คือ เรื่อง การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบวาตภัยที่ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี วาตภัยที่เกิดขึ้นที่ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จัดเป็นอุบัติภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ในการนี้มีนักวิทยุอาสาสมัครจำนวนหนึ่งได้เสียสละเดินทางออกไปช่วยเหลือ บรรเทาสาธารณภัยครั้งนั้นด้วยความเต็มใจ โดยวางแผนจัดตั้งโครงข่ายเฉพาะกิจขึ้นในบริเวณที่เกิดเหตุ สามารถเชื่อมต่อประสานงานกับศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” โดยมีการรายงานข่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงให้นักวิทยุอาสาสมัคร ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบทางวิทยุเป็นระยะๆ เมื่อความได้ทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” และได้พระราชทานคำแนะนำวิธีการจัดข่ายการสื่อสารเฉพาะกิจดังกล่าว โดยให้นำรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุ เป็นสถานีวิทยุเคลื่อนที่ไปจอดปฏิบัติการณ์ในบริเวณจังหวัดราชบุรี โดยให้พิจารณาคัดเลือกสถานที่สูงๆ เพื่อเป็นสถานีถ่ายทอดข้อความการรายงานข่าวระหว่างนักวิทยุอาสาสมัครที่ กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เหตุการณ์ กับศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” และนักวิทยุอาสาสมัครอื่นๆ ที่มีสถานีวิทยุซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สามารถติดต่อสื่อสารได้ในรัศมีไกลเป็นพิเศษ (สถานีวิทยุที่ใช้สายอากาศที่มีเกนสูง รับส่งสัญญาณวิทยุในทิศทางเดียว และสามารถบังคับทิศทางของสายอากาศได้)

                นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานคำแนะนำกำชับเรื่องแบตเตอรี่ประจำเครื่องวิทยุที่ใช้ปฏิบัติ งานว่า จะต้องเตรียมแบตเตอรี่สำรองที่ได้ประจุไฟเต็มไว้ไปให้เพียงพอ การบรรจุแบตเตอรี่เข้าในกระเป๋าxxบห่อสัมภาระ จะต้องระมัดระวังให้มีการใช้ฉนวนหุ้มห่อขั้วแบตเตอรี่ให้ดี มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาทำให้แบตเตอรี่มีการลัดวงจรไฟฟ้าระหว่างขั้วแบตเตอรี่เมื่อไป สัมผัสกับพวงกุญแจ หรือ สิ่งที่เป็นโลหะอื่นๆ ที่ปะปนอยู่ ทำให้ประจุไฟในแบตเตอรี่สำรองนั้นหมดไปเสียก่อนที่จะนำออกมาใช้งาน

                พระราชกระแสแนะนำวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่นักวิทยุอาสาสมัคร ที่จะออกไปปฏิบัติงานทางวิทยุอยู่นานเกือบครึ่งชั่วโมง ได้สร้างเสริมขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง และได้อัญเชิญไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหา กรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

                มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่น่าประทับใจ สมควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์วิทยุสมัครเล่นเมืองไทยไว้ด้วยเช่นกัน คือ ในวโรกาสที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมนำนักวิทยุอาสาสมัครจำนวนหนึ่งเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์อย่างใกล้ชิดที่ศาลาดุสิตาลัย ก่อนที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินออกกำลังกายตามปกติ ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำ ระหว่างที่ประทับรับสั่งกับนักวิทยุอาสาสมัครอย่างเป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์นั้น ยุงในสวนจิตรลดาจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีพิษสงไม่น้อย มีชื่อเสียงมากว่า เป็นยุงที่กัดแล้วไม่ปล่อย ได้ถือโอกาสนั้นไต่ตอมโจมตีผู้ที่เข้าเฝ้าฯ อยู่อย่างชุลมุน ไม่ละเว้นแม้แต่พระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งอธิบายอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิค การสื่อสารทางวิทยุให้แก่นักวิทยุอาสาสมัครที่เข้าเฝ้าฯ อยู่เป็นเวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง โดยไม่สนพระทัยเรื่องการรุมล้อมจู่โจมตีของยุง ผมต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าคอยหมั่นโบกไล่เพื่อมิให้ระคายเคืองพระยุคลบาทอยู่ตลอด เวลา วิธีการอธิบายของพระองค์ท่านในวันนั้น จะทรงหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์เทคนิคที่ฟังแล้วเข้าใจยาก ได้ทรงใช้ภาษาพูดที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย นักวิทยุอาสาสมัครที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในเย็นวันนั้นทุกคนจึงรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเชื่อว่า ทุกคนจะต้องจดจำเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ไปนานแสนนาน

                ผมได้เคยน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องรับ-ส่งวิทยุสมัครเล่นกำลังสูงระบบ HF Single Sideband ให้ทรงทดลองใช้งานและพัฒนามาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารตามพระราชประสงค์ แต่ไม่ทรงโปรด รับสั่งว่า “เหมือนกับเครื่องปิ้งปลา” (เพราะเป็นเครื่องที่ต้องใช้หลอดส่งวิทยุกำลังสูงซึ่งตัวหลอดจะร้อนมาก ต้องมีระบบระบายความร้อนด้วยพัดลมในขณะที่กำลังทำการส่งออกอากาศ) ทั้งสัญญาณที่รับฟังได้ก็ไม่ชัดเจน มีเสียงรบกวนตลอดเวลา

                อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอดทนตั้งใจสดับตรับฟังสัญญาณวิทยุซึ่งไม่ สู้จะชัดเจนมีเสียงรบกวนตลอดเวลาดังกล่าวข้างต้นผ่านเครื่องรับ-ส่งวิทยุ สื่อสารแบบ HF Single Sideband ที่สามารถปรับความถี่ในการติดต่อสื่อสารขนาดต่างๆ ได้ตามความประสงค์ที่เรียกว่า ระบบ Synthesizer ซึ่งส่วนราชการฝ่ายทหาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายไว้เพื่อได้ทรงทราบข่าวสารเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทุกข์สุขของพสกนิกร ของพระองค์โดยมิได้ทรงเบื่อหน่ายแต่อย่างใด

                เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ภายหลังที่ผมได้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขไม่นาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลิกราการเข้าร่วมในข่ายสื่อสารของนัก วิทยุอาสาสมัคร รวมทั้งในข่ายวิทยุสมัครเล่น ดังนั้น นักวิทยุสมัครเล่นจึงไม่มีโอกาสได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ท่านอีกจน กระทั่งทุกวันนี้

                ถึงแม้ว่า พระองค์ท่านจะมิได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุสมัครเล่น หรือในข่ายวิทยุอื่นๆ ดังเช่นแต่ก่อน เนื่องจากมีพระราชภารกิจที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับความร่มเย็นเป็นสุข การอยู่ดีกินดีแบบพอเพียงของพสกนิกรอยู่มากมายหลายประการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระกรุณาคุณต่อนักวิทยุอาสาสมัคร นักวิทยุสมัครเล่น และเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุของส่วนราชการต่างๆ อยู่เสมอมาโดยตลอดต่อเนื่อง ดังปรากฏในพระบรมราโชวาทที่ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นชั้นสูง และสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ในข่ายวิทยุสมัครเล่น ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๒ มีใจความตอนหนึ่งว่า

                “ขอขอบใจท่านที่มาให้พรและนำประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นชั้นสูงและ สัญญาณเรียกขานมาให้ ทำให้ปลื้มใจมาก เพราะถือว่าผู้ที่ทำการในด้านวิทยุสมัครเล่นและวิทยุอาสาสมัคร ต้องปฏิบัติการมาเป็นเวลานานพอสมควร และเข้าใจถึงเรื่องวิทยุ และวิธีศึกษาได้ดี นอกจากรู้จักหลักวิชาการและเทคโนโลยีของวิทยุ ก็จะต้องเห็นประโยชน์ของการสื่อสารที่มีต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งผู้ดำเนินงานในด้านวิทยุสื่อสารนี้ ต้องมีทั้งความสามารถ ความสนุกสนาน และความสนใจและได้รับประโยชน์ในส่วนของตัวเองเป็นอันมาก ทั้งจะต้องเห็นว่า วิทยุสื่อสารนี้เป็นประโยชน์อย่างไรในการพัฒนาและรักษาความมั่นคงของประเทศ…

                จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่นักวิทยุอาสาสมัครที่มีอยู่เดิม และยังหลงเหลืออยู่ นักวิทยุสมัครเล่น และนักวิทยุอาสาสมัครในสังกัดชมรมต่างๆ พึงจดจำและเทิดทูนพระบรมราโชวาทดังกล่าวไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม และถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจริงจัง และจริงใจ

                หากสามารถปฏิบัติได้ ผมรับรองว่า กิจการวิทยุสมัครเล่น และวิทยุอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ในเมืองไทยจะเป็นกิจการที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากสังคม เป็นที่ไว้วางใจของหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการ ใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๐ ซึ่งจะส่งผลให้กิจการนี้มีความมั่นคงเจริญรุ่งเรืองไปนานแสนนาน